Timelapse101 ตอนที่ 4 คณิตคิดในใจ (ภาคต่อ)
อรุณสวัสดิ์ครับ วันนี้มีภารกิจที่ต้องตื่นแต่เช้า พอเสร็จแล้วก็ว่างรอเวลา ผลพลอยได้จึงตกอยู่กับชาวไทม์แลปส์ พอมีเวลา มาต่อเรื่องที่ค้างเมื่อวานให้จบครับ
เรารู้จัก Frame Rate ในการฉายภาพไปแล้ว ในขั้นตอนบันทึกภาพก็มีเฟรมเรทเหมือนกัน ทั้งกล้องภาพยนตร์และกล้องวิดีโอ(รวมทั้ง D-SLR) จะมีสเปคมาให้ว่าถ่ายภาพเคลื่อนไหวด้วยเฟรมเรทเท่าไหร่ กล้องบางตัวก็ปรับเฟรมเรทได้หลายค่า
ถ้าเฟรมเรทตอนถ่ายทำ เท่ากับ เฟรมเรทตอนฉาย การเคลื่อนไหวในภาพก็จะมีความเร็วตามปกติ
เช่น วิดีโอถ่ายมา 25 fps เอามาฉายที่ 25 fps การเคลื่อนไหวในภาพก็จะปกติ ถ้าถ่ายทำที่ 25 fps เอามาฉายที่ 30 fps การเคลื่อนไหวในภาพก็จะเร็วขึ้นนิดหน่อย (20%)
โดยทั่วไปถ้าไม่มีวัตถุประสงค์อะไรพิเศษ ควรถ่ายทำด้วยเฟรมเรทเดียวกันกับตอนฉาย แปลว่าก่อนถ่ายทำเราต้องรู้แล้วว่าจะฉายที่เฟรมเรทเท่าไหร่
แต่สำหรับงานไทม์แลปส์ถือว่ามีวัตถุประสงค์พิเศษ ต้องการเร่งความเร็วของการเคลื่อนไหว ก็ต้องถ่ายที่เฟรทเรทต่ำๆ เพื่อที่ว่าเอามาฉายด้วยเฟรมเรทปกติแล้ว ภาพจะเร็วขึ้น
เช่น ถ่ายที่เฟรมเรท 1 fps แล้วฉายที่ 25 fps การเคลื่อนไหวก็จะเร็วขึ้น 25 เท่า
แต่ในการถ่ายไทม์แลปส์จริงๆเรามักจะใช้เฟรมเรทต่ำกว่านั้น เช่น 0.25 fps (4 วินาที ถ่าย 1 เฟรม)
การถ่ายด้วยเฟรมเรทต่ำมากๆแบบนี้ เราจะไม่นิยมเรียกว่า เฟรมเรท เพราะลักษณะการทำงานจะกลายเป็นการตั้งเวลาเป็นห้วงๆให้กล้องลั่นชัตเตอร์ เช่น ทุก 4 วินาที ให้ลั่นชัตเตอร์ 1 ครั้ง จึงมักจะเรียก Interval Time ดังนั้น Interval Time กับ "เฟรมเรทในการถ่ายทำ" ก็คือสิ่งเดียวกันนั่นเอง
สิ่งที่ต้องระวัง อย่าเอาความเร็วชัตเตอร์ มาปนกับ Interval Time สองอย่างนี้เป็นเรื่องเวลาเหมือนกัน แต่เป็นคนละตัวกัน ความเร็วชัตเตอร์นับเวลาตั้งม่านชัตเตอร์เปิด ไปถึง ม่านชัตเตอร์ปิด Interval Time นับเวลาตั้งม่านชัตเตอร์เปิดครั้งนี้ ถึง เวลาที่ม่านชัตเตอร์เปิดครั้งต่อไป Interval Time จึงใหญ่กว่า ความเร็วชัตเตอร์ Interval Time คือวงรอบในการทำงาน Interval Time เป็นผู้คุมกฎ เมื่อครบรอบนี้ก็จะขึ้นรอบใหม่ต่อๆไปเรื่อย ในแต่ละรอบ จะเปิดม่านชัตเตอร์นานเท่าใดก็ได้ แต่ต้องไม่ยาวเกิน Interval Time และม่านชัตเตอร์จะต้องปิดให้ทันเพื่อพร้อมที่จะเปิดใน Interval ถัดไป
เช่น ถ้า Interval Time 4 วินาที ความเร็วชัตเตอร์จะเป็น 0.4, 2, 3.5 หรือค่าไหนก็ได้ ตราบใดที่ไม่เกิน 4 วินาที ในทางปฏิบัติ ถ้ากล้องเราทำงานช้า ต้องเผื่อเวลาให้กล้องทำงานด้วย
สมมตว่าทุกครั้งที่ถ่าย กล้องต้องโพรเซสไฟล์ครั้งละ 1 วินาที ถ้าเราตั้ง Interval ไว้ 4 วินาที เราจะตั้งความเร็วชัตเตอร์ได้ไม่เกิน 3 เพราะ 3+1 = 4 วินาที ถ้าเกินจากนี้ กล้องจะทำงานไม่ทันวงรอบ เช่น ถ้าตั้งความเร็วชัตเตอร 3.5 วินาที + เวลาที่กล้องโพรเซสไฟล์ 1 วินาที รวมใช้เวลา 4.5 วินาที ซึ่งเกิน Interval สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ Interval รอบที่สองสั่งให้ลั่นชัตเตอร์ แต่กล้องยังไม่พร้อมทำงาน ผลก็คือ ในรอบที่สองไม่ได้บันทึกภาพ ต้องรอรอบสาม ภาพหายไปหนึ่งภาพ คลิปก็สะดุด เพราะฉนั้นจะทำอะไรก็ทำให้จบภายใน Interval Time
เอาหละครับ มาถึงเวลาลับสมองกันแล้ว ในการถ่ายไทม์แลปส์เราจะมีเรื่อง คูณๆหารๆ เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ Interval Time Frame Rate ความยาวของคลิป จำนวนช็อต ระยะเวลารวมในการถ่ายทำ
ต่อไปนี้เมื่อพูดถึงเวลา เราจะใช้วินาทีเป็นหน่วยหลักในการคำนวณ
เริ่มจากภาพรวมก่อน 1 ชั่วโมงมีกี่วินาที 1 ชม. = 60 นาที x 60 วินาที = 3,600 วินาที
ถ้า Interval Time = 4 วินาที ใน 1 ชั่วโมงเราจะถ่ายได้กี่ภาพ 3,600 / 4 = 900 ภาพ
900 ภาพ ถ้าเอามาฉายที่ 30 fps จะได้วิดีโอความยาวเท่าไหร่ 900/30 = 30 วินาที
พอเห็นภาพมั้ยครับ ที่จริงเขียนเป็นสูตรก็ได้ มาฝึกสมองกันครับ ให้การบ้าน ให้หาสูตรในการคำนวณ สิ่งที่เรามักจะใช้ในการถ่ายไทม์แลปส์ ได้แก่ รู้จำนวนภาพ ต้องการ หาความยาวของคลิป รู้ความยาวของคลิป หาจำนวนช็อตที่ต้องถ่าย รู้ความยาวของคลิป หาระยะเวลาที่ต้องถ่าย รู้ระยะเวลาเวลา หา Interval Time ลองดูครับ ช่วยกัน เดี๋ยวค่อยมาช่วยกันเฉลย
|