Timelapse101 ตอนที่ 3 คณิตคิดในใจ (วันนี้มีเวลาแค่ช่วงอยู่บนเครื่องไปเชียงใหม่ หักเวลาขึ้นลง และเวลาของป้าแอนแล้ว เหลือเวลาไม่มาก อาจจะไม่จบตอน ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นละกันครับ)
ตอนที่แล้วทิ้งท้ายไว้ว่า Interval Time มีผลต่อความเร็ว โดยมีผู้ช่วยที่คอยทำงานสอดรับกัน ตอนนี้ถึงคิวผู้ช่วยแล้วครับ
ทำความเข้าใจกันก่อนว่า ภาพเคลื่อนไหวนั้นคือภาพลวงตา แท้จริงแล้ว ภาพเคลื่อนไหวก็คือภาพนิ่งหลายๆภาพที่ผ่านเข้ามาสู่สายตาเราแบบต่อเนื่อง เมื่อตารับรู้ภาพก็จะส่งไปยังสมอง สมองแปลออกมาเป็นภาพ เมื่อสมองรับรู้ภาพแรก ภาพนั้นจะยังค้างอยู่ในสมองแป๊บนึง ถ้าเรารับรู้ภาพที่ 2 เข้ามาในเวลาใกล้ๆกัน ภาพที่ 2 ก็จะไปต่อกับภาพแรก ภาพที่ 3, 4, 5, … ก็ตามมา แต่ละภาพจะมีส่วนต่างกันทีละนิดๆ เมื่อเราเอามาต่อกัน จึงเกิดเป็นภาพลวงตา ทำให้เรารู้สึกว่าวัตถุในภาพนั้นเคลื่อนไหว
แต่ภาพลวงตา จะลวงได้ดีแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความเร็วในการเปลี่ยนภาพนิ่ง ซึ่งก็คือ "ความเร็วในการฉาย" นั่นเอง ถ้าฉายด้วยความเร็วที่สูงพอ ภาพก็จะเคลื่อนไหวอย่างนุ่มนวล สมจริง แต่ถ้าฉายด้วยความเร็วต่ำเกินไป ภาพก็จะกระตุก เคลื่อนไหวไม่นุ่มนวล
ความเร็วในการฉายมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Frame Rate
Frame คืออะไร เฟรมก็คือภาพแต่ละภาพที่เรียงกันอยู่ในฟิล์มภาพยนตร์หรือในคลิป ลองนึกถึงฟิล์มภาพยนตร์นะครับ จะเป็นฟิล์มเส้นยาวๆที่แบ่งเป็นช่องๆ ช่องละภาพๆเรียงกันไป แต่ละช่องนั่นล่ะครับคือ เฟรม (Frame) ในวิดีโอก็เรียกเฟรมเช่นกัน (แม้วิดีโอจะไม่มีฟิล์มให้เราจับต้องได้)
สรุปว่า เฟรมคือภาพแต่ละภาพ เฟรมเรทคืออัตราความเร็วในการฉายภาพ
วิธีวัดเฟรมเรท ทำโดยการนับจำนวนภาพนิ่งที่ฉายในห้วงเวลา 1 วินาที เฟรมเรทจึงมีหน่วยวัดเป็น เฟรมต่อวินาที (Frame per Second หรือ fps)
นอกจากเฟรมเรทจะมีผลต่อความสมจริงแล้ว ยังมีผลต่อความเร็วในการเคลื่อนไหวด้วย ถ้าฉายด้วยเฟรมเรทสูง วัตถุในภาพก็จะเคลื่อนไหวเร็ว ถ้าฉายด้วยเฟรมเรทต่ำ วัตถุในภาพก็จะเคลื่อนไหวช้า
แล้วควรฉายด้วยเฟรมเรทเท่าไหร ข้อนี้เราไม่ต้องคิดให้ปวดหัวครับ ในอุตสาหกรรมนี้เขาได้วางมาตรฐานไว้แล้ว
โดยทั่วไป ภาพยนตร์ฉายที่ความเร็ว 24 fps โทรทัศน์บ้านเราและยุโรปฉายด้วยระบบ PAL ที่ความเร็ว 25 fps โทรทัศน์สหรัฐ ฉายด้วยระบบ NTSC ที่ความเร็ว 30 fps นี่พูดตัวเลขกลมๆนะครับ เราจะผลิตงานฉายที่ไหนก็ขอให้สอดคล้องกับระบบของพื้นที่นั้น
แต่ถ้าฉายบนเครื่องคอมพิวเตอร์ เฟรมเรทจะหลากหลายมาก แล้วแต่คนผลิตวิดีโอจะทำออกมาที่เฟรมเรทเท่าไหร่ คอมพิวเตอร์สามารถฉายได้ทั้งนั้น
ตอนนี้เรารู้จักตัวการ 2 ตัวที่มีผลต่อความเร็วของการเคลื่อนไหวแล้วนะครับ คือ Interval Time กับ Frame Rate
สำหรับเฟรมเรทเราทำอะไรไม่ได้มาก เพราะมีค่ามาตรฐานที่เขากำหนดไว้แล้ว ก็เหลือ Interval Time นี่อหละที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญของเรา
(ได้เวลาเครื่องลงแล้วครับ ตามแผนเดิมเราจะเรียนเลขคณิตคิดดังๆกัน ขอยกยอดไปตอนหน้าละกัน ปิดเครื่องละครับ โดนน้องนกเมย์คนสวย เหล่ละ หะๆ )
|